ปฐมบท

พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) : ปฐมบท...

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สืบเนื่องเมื่อคราวก่อนนับย้อนไปเมื่อครั้งในอดีต
ชีวิตที่พลิกผันได้นำ “สังขาร” อันมีทั้งชีวิตและจิตใจ ที่เดินตามสายแห่งกรรมที่ได้นำชักพาให้ได้พบ ได้รู้จักกับ “พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics)”

ณ ห้องเรียนของโครงการหลักสูตรพัฒนบูรณาการศาสตร์ (Integral Development Science) ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ท่านศาสตราจารย์ ดร.อภิชัย พันธเสน อาจารย์ซึ่งเป็นครูได้บรรยาย ผ่องถ่าย ความรู้ ความคิด รวมทั้งประสบการณ์ ที่ยึดติดและฝังแน่นจนกลายเป็นปัญญาให้ลูกศิษย์และลูกหาได้เรียนรู้เป็น “ปริยัติ”

วันนี้ชีวิตในอีกด้านหนึ่งได้มีโอกาส “ปฏิบัติ” ดำเนินตามครรลองขององค์พระบรมศาสดาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงขอโอกาสนำความรู้ที่ได้รับนั้นมาเชื่อมโยงและต่อยอดกับการปฏิบัติในเสี้ยวหนึ่งของชีวิตที่เดินด้วยทั้งชีวิต

จัดการความรู้ (Knowledge Management) แล้วถ่ายทอด ร้อยเรียง ความสวยงามแห่ง “พุทธศาสตร์” อันอยู่บนฐานแห่งศีล และสมาธิ เพื่อหมุนวนต่อกันจนเป็นเกลียว ที่จะสามารถต้านทานกระแสแห่งกิเลสที่ไหลเชี่ยวในระบบเศรษฐกิจ (Economy) ตามระบบเศรษฐศาสตร์ (Economics) ปัจจุบัน


 

 

ปฐมบท

ความเป็นมาแห่งเหตุและปัจจัย


เมื่อสังคมในปัจจุบันที่ต้องจม หมักหมม ทุกข์ระทม ด้วย สมการ “เงิน” (Money Equation) หลากหลายคนต้องทนก้มหน้า หลังสู้ฟ้า หน้าสู้หนี้ จนแทบไม่เหลือพื้นที่แห่ง “ความสุข” ให้กับชีวิตและจิตใจ


อะไร? ทำไม? เพราะเหตุใด? จะแก้ไขได้อย่างไร? จะแก้ไขได้เมื่อไหร่? จะแก้ไขได้ที่ไหน? ใครจะต้องเป็นผู้แก้? ฯลฯ


คำถามมากมาย สารพัด ต่าง ๆ นานา รุมประเดและประดัง โถมเข้ามาชีวิตเปรียบดั่งคลื่นมหาสมุทรที่มิเคยมีวันหยุดหย่อนที่จะซัดเข้าฝั่งแห่งผืนดินฉันใด
การดำเนินชีวิตตามเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยม (capitalism) บริโภคนิยม และอย่างยิ่ง “กิเลสนิยม (desirism) ” ส่งผลชีวิตต้องดิ้นรนให้ได้มาซึ่งสิ่งสมมติที่เรียกว่า “เงิน” หรือจะเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่าเป็น “ทุน” ซึ่งมนุษย์เทิดทูนให้เป็น “ทุนแห่งชีวิต (Capital of Life)” เทิดทูน บูชา ไว้เหนือยิ่งกว่ากายและจิตใจ เทิดทูนสูงไว้ยิ่งกว่าศักดิ์แห่งการที่ได้เกิดมาเป็นคน ฉันนั้น


เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Core Economics) ที่เน้นหนักในการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อบำรุง ทั้งบำเรอความสุข ให้กับชีวิต ให้ “พอดี” แต่บางครั้งกลับ “เกินพอดี” จนกลับกลายเป็นการ สะสม สั่งสม ระดม มิพ้นต้องเบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งชัน จนกลายเป็นคำสวยหรูที่เรียกว่า “การค้า (Business)” หรือที่เรียกว่าธุรกิจในปัจจุบัน ที่สามารถค้าขายได้แม้กระทั่งชีวิตและจิตใจ


คุณภาพชีวิต (Quality of Life) ที่ถูกลิขิตด้วยกิเลส (Desires) ตกกระแสวังวนอยู่ในความโลภ ความโกรธ และความหลง ทำให้ทุกย่างก้าวของมนุษย์พยายามที่จะปรับเปลี่ยนทุก ๆ สิ่ง ทุก ๆ อย่าง ข้าง ๆ กาย ให้แปรเปลี่ยน กลับกลายมาเป็นสิ่งที่ตอบสนอง “คุณภาพชีวิต” ที่มิใช่เป็นแค่ความจำเป็น (Needs) แต่เป็นความต้องการ (Wants) จนกลายเป็นทฤษฎีทางการบริหารว่า “ความต้องการของมนุษย์นั้นไม่มีที่สิ้นสุด”


ธุรกิจนั้นจึงเฝ้าคอย เสาะหา ค้นหา วิจัย ความต้องการที่อยู่บนพื้นฐานแห่งคุณภาพชีวิตของมนุษย์ เพียรส่ง เพียรสร้าง “สินค้า และบริการ (Products & Services) เพื่อออกมาตอบสนองความต้องการของ “กิเลส” ซึ่งหาใช่ความต้องการของมนุษย์ คน ปุถุชน แล้วอีกต่อไป
ความต้องการที่จะเป็น “คนเหนือคน” “มนุษย์เหนือมนุษย์” ทำให้สังคมเกิดการแบ่งชน แบ่งชั้น แยกวรรณะกันด้วย “ระบบเศรษฐกิจ (Economics Systems)” นับตั้งแต่ระดับส่วนตัว ครัวเรือน เพื่อนบ้าน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ประเทศ ภูมิภาค โลก จนสุดรอบครอบทั่วจักรวาล


เศรษฐศาสตร์ที่เป็น “เศรษฐกิเลส” (Desires Economics) จึงเป็นการสร้างชีวิตใหม่ วิถีชีวิตใหม่ ๆ ใจใหม่ ๆ ที่ต้องการมากกว่ากายและใจต้องการซึ่งเป็นความต้องการอันไม่มีที่สิ้นสุด แต่สุดท้ายอย่างไรความต้องการทั้งหมดทั้งสิ้นนั้นก็ตั้งอยู่บนฐานแห่ง “จิตดวงเดิม” จิตอันประภัสสรที่มีความ “สงบสุข” และต้องการ “ความสงบสุข” แบบมนุษย์ ๆ ที่พึงอยู่รวมกันอย่างศานติสุข


พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) หลักการของเศรษฐกิจซึ่งเป็น “เศรษฐชีวิต (Life Economics)” ที่พึ่งพา พึ่งพิง ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ อันเป็น “กัลยาณมิตร” ซึ่งกันและกัน

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

7 ธันวาคม พ.ศ.2550

Visitors: 77,459