เศรษฐศาสตร์แห่งความ “พอใจ” (Satisfactory Economic)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (Core Economic) มักให้คำนิยามความต้องการของมนุษย์ว่า “ไม่มีวันสิ้นสุด” พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economic) จึงเป็นเศรษฐศาสตร์ที่สอนให้มนุษย์รู้จักความสิ้นสุดที่ “ความพอใจ”

 

นักเศรษฐศาสตร์ที่แสดงตนอยู่ในคราบของนักธุรกิจ มักจะใช้โอกาสจากความต้องการ หรือที่เรียกง่าย ๆ “กิเลส” ของมนุษย์นั้นทำมาหากิน

เมื่อมนุษย์ต้องการเข้าก็มีอาชีพ มีรายได้ ถ้าหากว่ามนุษย์ไม่ต้องการ เข้าก็ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้

ดังนั้นเศรษฐศาสตร์แห่งความพอใจ จะสร้างมนุษย์ให้รู้จักความ “พอดี”

ความพอดีนั้นอยู่บนพื้นฐานของความจริง ต้องการจริง มีจริง ได้จริง
มนุษย์ในสังคมทุกวันนี้ถูกนักธุรกิจสอนให้ “เพ้อฝัน” จึงให้ความต้องการนั้นอยู่บนพื้นฐานของความฝัน ต้องการตามฝัน มีตามฝัน และให้ได้ตามฝัน

มนุษย์ที่ตกอยู่ในวงเวียนหรือวังวนของนักธุรกิจเช่นนี้ ย่อมวิ่งหาสิ่งต่าง ๆ ตามฝัน เมื่อได้หนึ่งไม่พอต้องขอสอง สองไม่พอนั้นต้องสาม สี่ ห้า

“เศรษฐศาสตร์แห่งความพอใจ” จะสอนและสร้างเราให้ใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานที่พอดี

 

 

หนึ่ง ปกป้องจิตใจจากความต้องการจากกิเลสซึ่งนั่นมาจากความเพ้อฝัน

ความเพ้อฝันนั้นไหนเหรอ...?
ความเพ้อฝันในทุกวันนี้นั้นมาจาก “สื่อ”
“สื่อ” คือ เครื่องมือและแขนขาของนักธุรกิจในการสร้างความฝันของผู้ที่คาดหวังว่าจะเป็น “ลูกค้า (Customers)

เมื่อฝันแล้ว เพ้อแล้ว เขาก็จะเดินตามฝันด้วยอาการที่ “ขาดสติ”

การอัด การกระตุ้น การกระทุ้ง การสร้างค่านิยม บรรทัดฐาน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เพิ่มความต้องการของบุคคล

แต่ทว่า... ถ้าหากเรารู้จักการป้องกันพิษภัยจากสื่อบ้าง อาทิ รักษาศีลอุโบสถ (ศีล ๘) บ้าง ในวันพระ เราก็จะตัดแรงกระตุ้นจากสื่อได้อย่างน้อยก็วันหนึ่งและคืนหนึ่ง การประพฤติ ปฏิบัติเช่นนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความเพ้อฝันให้กับตนเอง

สอง การพัฒนาปัญญาให้กับตนเอง

การมีศีลนั้นย่อมเป็นรากเป็นฐานแห่งสมาธิ
เมื่อถูกแรงกระตุ้นจากกิเลสที่มีผู้จงใจสื่อหรือนำสารมาให้เรา หากแม้นเรามีศีลเป็นพื้นฐานอย่างมั่นคงไม่หวั่นไหว เราจะสติอันเกิดจากสมาธิที่คุ้มครองและป้องกันภัยได้
เมื่อมีสติที่เข้มแข็ง และสามารถผ่านช่วงเวลาที่ถูกกระตุ้นไปได้ สิ่งนี้ ประสบการณ์นี้นั่นคือ “ปัญญา”
ปัญญาที่จะสอนเราให้รู้ว่า “ความพอใจ” เป็นเช่นไร...?

ทุก ๆ ครั้งที่เราปฏิเสธแรงกระตุ้นจากความเพ้อฝันนั้น คำตอบจากการปฏิเสธนั้นคือ “เราพอใจ”
พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ พอใจในสิ่งที่เราพูด เราคิด เราทำ
สิ่งภายนอกที่มากระทบนั้นไม่สามารถทำให้เรากระเทือนได้

 

ชีวิตทุก ๆ วันนี้ เรามี เรา “พอ”
เมื่อมีสิ่งมากระทบและบอกเราว่า “เราไม่มี เราไม่พอ” เมื่อนั้นเราต้อง “ทำใจ”

ทำใจให้เข้มแข็ง ต่อสู้กับสภาวะวิกฤต ที่จะกระชากเงินจากกระเป๋าเรา กระชากความสุขจากครอบครัวของเรา กระชากความอิสระจากชีวิตของเรา สิ่งเหล่านี้เราจะชนะได้ก็เพราะเรามี “ความพอใจ”

พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economic) นี้ สอนให้เราเป็นคนที่เข้มแข็ง เป็นคนที่รู้จักความอิสระ (Freedom) “อันเป็นความอิสระต่อความอยาก มิใช่เป็นความอิสระที่จะอยาก...”

เมื่อเกิดความอยากอะไรมากระทบทั้งจากภายนอกและภายในเราก็เฉย เราพอใจ
แต่ถ้าหากเราเรียกร้องแต่อิสระที่จะได้โน่นได้นี่ตามใจ สิ่งนี้เป็นความอิสระที่ไม่เที่ยงแท้และยั่งยืน

ความพอใจนั้นเป็นอิสระอันดีแท้
ความพอใจนี้จะนำชีวิตเราให้พบกับความสุขขึ้นอีกมาก
เพราะความพอใจนี้จะทำให้ชีวิตเรา “สงบ”
ความสงบนี้เองเกิดขึ้นจากความพอใจเป็นปัจจัยที่สำคัญ

เศรษฐศาสตร์แห่งความพอใจ (Satisfactory Economic) จึงเป็นเศรษฐศาสตร์ที่เน้นสอนใจเป็นสำคัญ
ความพอใจนั้นเป็นอุปทานที่เที่ยงแท้
ความพอใจนั้นเป็นอุปสงค์ที่เที่ยงแท้
เพราะความพอใจนั้นทำให้อุปสงค์และอุปทานนั้นพอดีกัน...

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ 

7 มีนาคม พ.ศ.2552

Visitors: 77,597