เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก “ปัก” สังคมไทย

พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) : เศรษฐศาสตร์กระแสหลัก “ปัก” สังคมไทย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วิถีชีวิตของคนแห่งสังคมที่เคยอยู่กับเศรษฐกิจแบบพึ่งพาและพึ่งพิงธรรมชาติ กลับถูก “ปัก” ด้วยระบบเศรษฐศาสตร์ที่เน้นมหภาค (Macro Economics) มากกว่า “ความสุขแท้” ในใจคน

 


เศรษฐกิจที่เดินตามระบบเศรษฐศาสตร์ที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์ชาตินั้นเริ่มต้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกก็เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๔ เมื่อผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม ชาวบ้านต่างก็มาชุมนุมและตกหลุมแห่งไม้หลักปักขี้เลน

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติที่ยังไม่มีคำว่า “สังคม” ได้ถูกนำมาปักลงบนกลางอกและชกเข้าเอากลางหัวใจ ทำให้พี่น้องชาวไทยอยู่ดีมีสุขกลายเป็นคนที่มีทุกข์เพราะตกเป็นประเทศและ “คน” ที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจโดยฉับพลัน


ตัวเลขทางสถิติที่ตัดบนเส้นแกน X และ แกน Y สำคัญยิ่งกว่าเส้นสายแห่งชีวิตที่ “สงบสุข” มานานแสนนาน


การเร่งพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่งผลให้ชีวิตและจิตใจของพี่น้องไทยต้องพบพานความเปลี่ยนแปลงจากระบบเศรษฐกิจธรรมชาติแบบครอบครัว กลายเป็น “เศรษฐกิจนอกรั้ว” ต้องพาตัวออกขายใช้แรงกายทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่ง “เงิน”


เงิน สื่อกลางที่เศรษฐศาสตร์กระแสหลักใช้สมมติเพื่อ “ปัก” คนในสังคมให้ยึดติดและยึดมั่นว่าเงินนั้นจะสามารถนำมาซึ่งความสุข


ทิ้งที่ ขายไร่ โยกย้าย อพยพ เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการหาเช้ากินสาย หาบ่ายไว้กินค่ำ หากเหลือก็เก็บนำไว้ใช้ยามคลาดแขน กลับกลายเป็นหาทั้งเดือนเพื่อใช้ต้นเดือนและกู้หนี้ยืมเพื่อนเพื่อทับถมเป็นดินพอกหางหมูต่อไปและต่อไป เพื่อให้วิถีชีวิตตกลงในวงจรการหมุนของเงินที่กำลังจะหมุนไป ๆ เพื่อสร้างความมั่นคงอันสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นทางเศรษฐกิจ (Shareholders wealth maximization) อันเป็นผู้ควบคุมชีวิต “คน” ที่ต้องเปลี่ยนตน “เป็นมดงาน” เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่ความสุขในวิถีชีวิต “ช่างหัวมัน(มด)”


ความคิดที่ติดกิเลสอันเป็นมิจฉาทิฐิที่สั่งสม เฝ้าอบรมบ่มนิสัยจากพ่อสู่แม่ จากแม่สู่ลูก จากลูกสู่หลาน สืบทอดกันมาอย่างช้านาน จากสันดอนกลายเป็นสันดานที่ยากจะขุดและหยั่งถึง ยิ่งเดินยิ่งจม ยิ่งขุดยิ่งเหนื่อย ไม่ขุดดีกว่าจะได้ไม่เหนื่อย สุดท้ายปล่อยชีวิตแบบเนือย ๆ ให้ชีวิตจมปลักในวงวนที่หมักหมมด้วยตัณหาและกามกิเลส


พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) มิใช่เครื่องมือที่ใช้ขุดหลักหมุดที่ “ปัก” มุดจมอยู่ในกมลสันดาน “พุทธศาสตร์ (Buddhist Science)” จะช่วยกำจัดเหตุและปัจจัย กำจัดไม้ที่ปัก ขจัดแรงที่พลักดันให้ไม้ยิ่งจมลงไป อีกทั้งตัดไซร้ซึ่งดินอันเป็นที่จะคงไว้อันเป็นเชื้อเลวร้ายแห่งกิเลสให้หมดสิ้นไปจากกายและใจของ “คน” เพื่อให้ใจดี ใจสบายและอยู่ได้อย่างศานติสุข

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

8 ธันวาคม พ.ศ.2550

 

Visitors: 77,593