ดัชนีชี้วัดมวลรวมความสุข (Index of Gross Domestic Happiness : IGDH)

ดัชนีชี้วัดมวลรวมความสุข (Index of Gross Domestic Happiness : IGDH)

 

 

 

 

 

 

 

 

 

มวลรวมความสุข (Gross Domestic Happiness: GDH) เป็นสิ่งที่กำลังถูกพูดอย่างกว้างขวางและหนาหูอยู่ในปัจจุบัน เพราะกว่ากึ่งศตวรรษที่ผ่านมานั้น ระบบทุนนิยมที่วัดกันด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) และผลิตภัณฑ์มวลรวมนานาชาติ (Gross National Product : GNP) ที่มีและสูงขึ้นนั้นสวนทางกับ “ความสุข” ในใจคน

 

ในชีวิตทุกคนเกิดมาแท้ที่จริงแล้วก็เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสุขจากความดับเสียซึ่งทุกข์

ปรัชญาของทุนนิยมนั้นบอกว่า การมีเงิน มีทรัพย์จะทำให้มีสุขเพราะมีเงินมาบำบัดทุกข์ในชีวิต แต่ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้แล้วว่า การมีเงินหรือมีทองมานั้นมิได้ให้ความสุขแท้ก็จิตใจ

มวลรวมความสุข (Gross Domestic Happiness : GDH) กำลังเป็นสิ่งที่ท้ายทาย “ใจ” ของคนในสังคมนี้ ว่าจะทำจะสร้างให้เกิดมีขึ้นได้อย่างไรอย่างเป็นรูปธรรม เพราะมวลรวมความสุขนั้นว่ากันเป็นนามธรรมและต้องวัดกันด้วยจิตใจ ดังนั้นเรื่องจะนำสิ่งใดมาวัดใจของคนและสังคมได้ในระบบ “ทุนนิยม”

เมื่อยุคนี้ ยุคทุนนิยม ยังนิยมวัดกันเดินกันด้วยตัวเลข ดังนั้น GDH ก็จะต้องมีตัวเลขเป็นดัชนีชี้วัดมวลรวมความสุข (Index of Gross Domestic Happiness : IGDH) ให้สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมให้ได้ ซึ่งตัวเลขตัวนั้นไซร้คือ “ค่าการให้” แด่สังคม

ในทุกคน ทุกธุรกิจมีการให้อยู่แล้วตามหลักการ ตามประเพณีของจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethics Business) ทั้งในรูปแบบของ การตลาดสีเขียว (Green Marketing) มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ISO 14000 การบำบัดน้ำเสีย โครงการปลูกป่า การสร้างผลิตภัณฑ์แบบ NON-CFC หรือการผลิตสินค้าภายใต้สัญลักษณ์ CE ของกลุ่มสหภาพยุโรป สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถนำมาใช้ “วัดดัชนีการให้” ได้ตามหลักมวลรวมความสุข

เพราะค่าการให้จากกิจกรรมเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นต้นทุนของธุรกิจที่ต้องจ่าย 
จ่ายเพื่อให้ จ่ายเพื่อคืน จ่ายเพื่อยื่นสิ่งที่ดีให้สังคม คืนธรรมชาติ สร้างความสมดุล
ดังนั้น...น่าคิดว่า ตัวเลขหรือดัชนีนี้การให้นี้มีสัดส่วนมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตสินค้าแต่ละชิ้น แต่ละประเทศ แต่ละบริษัท และต้องคิดต่อไปอีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วระหว่างเมื่อ GDP บวก GNP แล้วหักออกด้วยเสียดัชนีของ GDH แล้ว เรามีสุขจริงหรือไม่ อย่างไร?

 

 

(ต้นทุนปัจจัยนำเข้า + ค่าแรง) – ค่าใช้จ่ายเพื่อสังคม = GDH

(GDP+GNP)-GDH = ความสุขแท้...

 

 

 

ถ้าผลของตัวเลขออกมาเป็นค่าบวกแสดงว่าบริษัทนั้น ประเทศนั้นรับมากกว่าให้ 
ถ้าผลของตัวเลขออกมาเป็นค่าลบแสดงว่าบริษัทนั้น ประเทศนั้นให้มากกว่ารับ คนในประเทศเป็นสุข สุขที่ได้ให้

ประเทศใดให้มาก ประเทศนั้นสุขมาก
เพราะการให้นำความสุขมาให้ การให้สุขมากกว่าการรับ 
การให้เกิดจากการผลิตที่บริสุทธิ์ เว้นการเบียดเบียนซึ่งชีวิตสัตว์ คน และ ธรรมชาติ
สุขใจที่ได้ให้ ได้เสียสละ อิ่มเอม เปรมใจ ทำงานสร้างธุรกิจเพื่อตอบแทนกับสังคม
ประเทศใดรับมาก เอามาก ผลิตมาก ให้น้อย แสดงว่า ทุกข์มาก สุขน้อย 
ค่าบวก กิเลสบวก ค่าลบกิเลสในใจของคนเริ่มลดน้อยถอยลง 
ประเทศใดมีค่าลบ แสดงว่าประเทศนั้น บริษัทนั้น คน ๆ นั้นสามารถลบกิเลสเสียสิ้นจากจิตใจแล้วสุดท้ายจักเข้าถึงแก่นแห่งความ “พอเพียง” (Sufficiency Economics)

ตัวเลขการให้เป็นตัวเลขที่น่านำมาคิดและพยากรณ์อนาคตความสุขของคนในองค์กร ประชากรในประเทศ และควรบรรจุไว้ในวิชาจริยธรรมทางธุรกิจ (Ethics Business) รวมถึงวิชาองค์การและการจัดการ (Organization and Management) เพราะถ้านักบริหาร นักบัญชีสามารถนำงบดุลและงบกำไรขาดทุนทั้งของตนเองและของอุตสาหกรรมมาพยากรณ์ (Forecast) แนวโน้มของธุรกิจและของตลาดได้ ดัชนี “การให้” นี้ไซร้ย่อมพยากรณ์ความสุขใจมวลรวมของมนุษยชาติได้เช่นกัน

การให้นอกจากเป็นการคืนกำไรแก่สังคมแล้ว ยังหมายถึงการละเว้นจากการทำลายล้างเบียดเบียนทั้งตนเอง และสังคม โดยเฉพาะ “ธรรมชาติ” เพื่อสร้างประโยชน์สุขมวลรวมของมวลมนุษย์ในโลก เพราะการให้เพียงหนึ่ง ได้กลับคืนถึง ๓ คือ คืนด้วยการหยุดทำลายหนึ่ง การฟื้นฟูสภาพด้วยตนเองเมื่อหยุดทำลายอีกหนึ่ง รวมทั้งการเจริญเติบโตการเป็นอยู่ตามธรรมชาติของสิ่งที่ไม่ถูกทำลายอีกหนึ่ง

มาร่วมการค้นหาและร้างดัชนีชี้วัดมวลรวมความสุข  (Index of Gross Domestic Happiness : IGDH) นี้ไซร้เพื่อ “ให้” ความสุขแท้กับคนไทย มวลมนุษยชาติ สรรพสัตว์ และธรรมชาติ

 

 

 

 

 

 

 ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

16 เมษายน พ.ศ.2551

 

Visitors: 77,600