ทีมผู้นำ สร้างสรรค์ และจุดประกาย

เสียสละ "ละตัว ละตน..."



เราทุก ๆ คนที่เกิดมาที่มีความทุกข์เพราะเรามีความยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจว่ามีตัวว่ามีตน "ที่ไหนมีความยึดมั่นถือมั่นทางจิตใจว่ามีตัวมีตน ที่นั่นแหละมีความทุกข์..."
อย่างเรายึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นพระเราก็มีความทุกข์ เรายึดมั่น ถือมั่นว่าเราเป็นโยมเราก็มีความทุกข์ เรายึดมั่นถือมั่นว่าเราเป็นผู้จัดการ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นท่านนายพล เป็นคุณหมอ เป็นผู้อำนวยการ ที่ไหนเรามีตัวมีตน เรามีทุกข์ทั้งนั้น "เพราะทุกข์เกิดจากความรู้สึกที่มันมีตัวมีตน..."

ผู้ที่มีตัวมีตนนั้นย่อมถือวัตถุเป็นใหญ่
ถือลาภยศสรรเสริญ ถือความร่ำความรวย
ถือความรู้ความสามารถเป็นใหญ่

พระพุทธเจ้าท่านให้เรามาเป็นผู้ให้ทาน เป็นผู้เสียสละทางจิตทางใจ ต้องให้เสียสละทั้งทางจิตใจ เสียสละทางคำพูด เสียสละในการกระทำ กิริยามารยาทน่ะ...
อย่างเราทำงานเพื่องาน ทำงานเพื่อเสียสละ ทำงานเพื่อช่วยเหลือ ทำงานเพื่อละความโลภ ความโกรธ ความหลง ทำงานเพื่อไม่เอา ไม่มี ไม่เป็น ทำงานเพื่อสติ เพื่อสัมปชัญญะ ทำงานเพื่อให้ใจของเรา มีความสุขที่เราได้เสียสละ
คนเราน่ะมันมีลมหายใจเข้ามันต้องมีลมหายใจออกมันถึงจะ ไม่มีความทุกข์ จะหายใจเข้าอย่างเดียวเราไม่หายใจออกมันก็ย่อมตาย...

 

 

 

 

 

คนเราต้องใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์...
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะตั้งอยู่ ไม่ว่าอะไรจะดับไป ทุกท่านทุกคนต้องมาแก้ไขที่จิตใจ เพื่อให้ใจของเราสบาย ใจของเราไม่มีทุกข์
ชีวิตของคนเรามันเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนั้นมันจึงมี ถ้าเรามาแก้ที่ใจของเราให้ใจสบายทุกข์ก็ไม่มี
ไม่ว่าเรื่องกาย ไม่ว่าเรื่องใจ ทุกอย่างเราปฏิบัติธรรม...
เราพยายามมาแก้ที่ใจของตัวเอง แก้ที่การกระทำ แก้ที่คำพูด ของตัวเอง
เอาทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้ตามใจและไม่ได้ตามใจนั้นมาประพฤติปฏิบัติธรรม มาเสียสละ มาละความเห็นแก่ตัว

 

 

 

ถ้าเรามีตัวมีตนเมื่อไหร่เราก็มีความทุกข์ เราก็จะเครียด... "เราเครียดเราไม่พอ ครอบครัวเราก็ทุกข์ก็เครียด เราก็เผาคนอื่น เพราะความยึดมั่นถือมั่นของเรา"
พระพุทธเจ้าบอกสอนเราว่า "ตัวเรามันไม่มี..."
เราทานอาหารทุกวัน พักผ่อนทุกวัน ทุกคนก็ผ่านไปทุก ๆ วัน จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่ก็เป็นคุณตาคุณยาย สุดท้ายทุกคนก็ไม่ได้ เป็นอะไร

พระพุทธเจ้าให้เราทุกคนเจริญเมตตา 
เจริญพรหมวิหารทั้ง ๔ ให้มาก

ให้เรามีความสงสารคนอื่น เพราะทุกคนในโลกนี้มีความทุกข์ ทั้งทางจิตใจ มีความทุกข์ทั้งทางกาย มีความทุกข์ทั้งหน้าที่การงานทุกอย่าง "สารพัดทุกข์..."


เราต้องเมตตาสงสารคนอื่น... 
คนอื่นเค้าได้ดีเราก็ยินดีอนุโมทนาอย่าไปอิจฉา ถ้าเราไปอิจฉาก็ทำให้เราเสียความดี เสียบารมี เสียคุณธรรม
เจริญอุเบกขามาก ๆ คือเราต้องใช้สมาธิให้มาก สมาธิแข็งแรง
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะตั้งอยู่ ไม่ว่าอะไรจะดับไป เราต้องไม่นึก ไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง พยายามอุเบกขาไว้เพื่อใจของเราสงบ ใจของเราเย็น เพื่อจะไม่ง่อนแง่นคลอนแคลน

 

 


ความอดทนเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างยิ่ง...
ต้องอดเอาทนเอา ต้องเป็นคนใจหนักแน่น หยุดคิดให้ได้ หยุดพูดให้ได้ หยุดกระทำให้ได้ ต้องหยุดตัวเอง ต้องมีสติมีสัมปชัญญะ
ในโลกนี้มันมีทุกสิ่งทุกอย่าง มีทั้งคนดีมีทั้งคนไม่ดี มีสิ่งอำนวย- ความสะดวกสบายและสิ่งที่มาลิดรอนสิทธิ์ จิตใจของเราต้องหนักต้องแน่นต้องสงบ "เราจะเอาแต่สิ่งที่ดี สิ่งที่ไม่ดี เราจะเอาไว้ที่ไหน...?"
พระพุทธเจ้าจัดการให้เราทำใจให้สงบ ทำใจให้อุเบกขา เราไม่ต้องตามความคิดไป ไม่ต้องตามอารมณ์ไป

ทุกท่านทุกคนพยายามหายใจเข้าสบายหายใจออกสบายไว้
เพื่อจะไม่ตามอารมณ์ไป
ไม่ตามความคิดไป
ไม่ตามสิ่งแวดล้อมไป
ทำงานไปให้มีความสุข
หายใจเข้าออกสบายให้มีความสุข


กรรมเก่า ๆ ที่ผ่านมาหลายภพหลายชาติน่ะมันสั่งสมเราก็รู้ เราก็จำความได้ตั้งแต่เราเป็นเด็ก เราเคยถูกกดขี่ข่มเหงตบตี ทั้งทางกาย ทางวาจา ทั้งจิตใจนั้น พระพุทธเจ้าสอนเราให้หยุด ให้ละ ให้วาง "วางจริง ๆ ปล่อยจริง ๆ ให้มันได้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์" 
จิตใจของเรา ความยึดมั่นของเราเป็นหน้าที่ของเราทุก ๆ คน จะต้องปล่อยต้องวาง
สิ่งที่ดีเราก็ต้องปล่อยต้องวาง สิ่งที่ชั่วเราก็ต้องปล่อยต้องวาง สิ่งที่ไม่ดีไม่ชั่วเราก็ต้องปล่อยต้องวาง 
กลับมาทำใจให้สบาย ทำใจให้มีความสุข ทำใจให้ไม่มีความทุกข์ ในปัจจุบันให้ได้
ทุก ๆ ท่านทุกคนต้องฝึกปล่อยวางเรื่องอดีต ซึ่งมันเป็นแผลลึกในใจของทุกคน 
ถ้าเราไม่ปล่อยไม่วางก็เปรียบเสมือนเรายังติดโซ่ติดอวนทางจิตใจ
นาน ๆ ทีกรรมเก่า ๆ ของเรามันผุดขึ้นมาก็ให้เรารู้แล้วก็ปล่อย แล้วก็วาง เราจะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ เพราะถ้ายึดมั่นถือมั่นแล้ว มันทำให้เครียด ทำให้ทุกข์ ทำให้มีปัญหา

 


พระพุทธเจ้าสอนเราให้เป็นที่เสียสละมาก ๆ เสียสละอย่างไม่มีอะไรที่จะบดบังหัวใจ 
เราทุกคนอย่าไปคิดว่างานหนักไม่ได้พักผ่อน อย่างนี้มันเป็นอาการของอัตตาตัวตน เป็นอาการของบุคคลที่ติดสุขติดสบาย เป็นอาการ ของบุคคลที่มีความยึดมั่นถือมั่นในตัวตน ในอัตตา
พระพุทธเจ้าตรัสว่าธรรมะเหล่าใดเป็นไปเพื่อความขี้เกียจขี้คร้าน ธรรมเหล่านั้นไม่ใช่ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นต้องเสียสละ ไม่ติดสุข ติดสบาย ไม่ติดเอร็ดอร่อย เพราะทุกคนต้องก้าวไปข้างหน้าด้วยความดี ถ้าเรามาติดมั่นถือมั่น ชีวิตของเรามันก็เดินเข้าหาความสุขความดับทุกข์ไม่ได้ เพราะอัตตาตัวตนความหลงของเรา
ทุกคนอยากเป็นคนรวย
อยากเป็นใหญ่เป็นโต
อยากมีความสะดวกสบายทุกอย่าง
อาการอย่างนี้เป็นอาการของความยึดมั่นถือมั่นในตัวในตน

 

 

 

 

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เป็นคนเสียสละ...
คำว่าเสียสละนี้ไม่ใช่คนขี้เกียจขี้คร้าน ต้องเป็นคนขยันมาก ๆ 
พระพุทธเจ้าท่านขี้เกียจไม่เป็น พระอรหันต์ท่านขี้เกียจไม่เป็น ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีโลกส่วนตัว ถ้าเรามีความยึดมั่นถือมั่น เราจะมีโลกส่วนตัวเป็นส่วนใหญ่น่ะ จะเป็นผู้มี ผู้เป็น เป็นผู้ที่จะเอา
ถ้าคนขี้เกียจขี้คร้านนี้แหละแม้แต่คิดมันก็ไม่อยากคิด ทำมันก็ไม่อยากทำ มันทำให้เรามีความทุกข์โดยที่เราไม่เข้าใจว่า เหตุแห่งความทุกข์แห่งอัตตาตัวตนได้แก่ความขี้เกียจขี้คร้าน
พระพุทธเจ้าท่านสอนเราทุกคน... ไม่กลัวความยากความลำบาก ไม่กลัวปัญญา เพราะความทุกข์ความยากความลำบากทำให้ทุกคนเข้าถึงคุณธรรม เข้าถึงความสำเร็จในชีวิต
ถ้าเราเป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน เราก็ไปโทษคนนั้นคนนี้ โทษดินฟ้าอากาศ โทษการบ้านการเมือง โทษสายนัก เช้านัก ดึกนัก แล้วไปโทษอุปสรรคต่าง ๆ นานา "ถ้าปัญหาต่าง ๆ มันตันมันไปไม่ได้น่ะ..."
พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราสงบ อุเบกขา ปล่อยวางทุกอย่าง เพื่ออบรมบ่มอินทรีย์ ให้ใจของเราสงบ ให้ใจของเราเย็น เพื่อสมองของเรามันจะได้คลายเครียด
สมองเราทุก ๆ คนน่ะ มันไม่เหมือนกัน บางคนก็คิดมากติดต่อกันได้ บางคนก็คิดมากติดต่อกันไม่ได้ มันเปรียบเสมือนเครื่องยนต์นี้แหละ ผู้ที่เป็นเจ้าของรถยนต์ต้องรู้จักเครื่องยนต์ของตัวเอง ถ้ามันไปไม่ได้ก็ต้องพัก ถ้าฝืนไปเดี๋ยวมันก็เครียด เดี๋ยวมันก็ระเบิด
คนเราน่ะ พระพุทธเจ้าให้เรามีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญา... 
สมาธิก็คือการทำใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์ ปัญหาที่จะเป็นเหตุ ที่จะเป็นผล หาช่องทางดี ๆ ที่เราจะได้เสียสละ ที่เราจะได้ละตัวละตนน่ะ

สมาธิได้แก่สติสัมปชัญญะน่ะ... 
ทุกคนมีความจำเป็นต้องได้ปฏิบัติเพื่อทำใจดี ใจสบาย ใจไม่มีทุกข์ เพราะว่าคนเรามีเวลา ๒๔ ชั่วโมง เวลาตื่นอยู่น่ะตั้ง ๑๐ เกือบ ๒๐ ชั่วโมง ถ้าเราไปเครียดเราใจไม่ดี ใจไม่สบายเรามันก็ลำบากแน่ ขาดทุนแน่ เราจึงจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนชีวิตของเราเองด้วยใจดี ใจสบายใจไม่มีทุกข์

 

 

 

ปรับตัวเองเข้าหาศีลทั้ง ๕ ปรับตัวเองเข้าหาการทำงานให้มีความสุข ปรับทั้งทางกาย ปรับทั้งทางวาจา ปรับทั้งทางจิตใจ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติอย่างนี้แหละเราก็จะฉลาดขึ้นชำนาญขึ้น รู้จักแก้ปัญหาทางจิตใจ แก้ปัญหาทางภายนอกได้มากขึ้น
เราจะข้ามน้ำข้ามทะเลอันกว้างใหญ่ได้เราจะต้องอาศัยยานพาหนะที่ดีที่ปลอดภัย ถ้าเราจะเข้าถึงความสุขความดับทุกข์ที่แท้จริงเราก็ต้องพึ่งพาอาศัยยานพาหนะที่ดีที่ปลอดภัย ซึ่งได้แก่ความดี ได้แก่ความถูกต้อง ได้แก่สิ่งที่ไม่มีความรู้สึกว่าเรามีตัวมีตน
จิตใจของเราทรมานมาก มันเป็นการสะดุดในหัวใจว่าเราดีกว่าเค้า เราเก่งกว่าเค้าหรือว่าเราสู้เค้าไม่ได้ หรือคิดว่าเราเสมอกับเค้าน่ะ ล้วนแต่มีทุกข์ทั้งนั้น เพราะความรู้สึกนึกคิดอย่างนี้ มันคือความยึดมั่นถือมั่น คือตัวคือตนน่ะ
"นัตถิ สันติ ปรมัง สุขัง สุขอันไหนก็สู้ความสงบไม่ได้..."
ถ้าเรามีความคิดความปรุงแต่งเมื่อไหร่น่ะเราก็มีความทุกข์เมื่อนั้น
ทุก ๆ ท่านทุกคนต้องฝึกทำใจให้สงบ ทำใจไม่มีทุกข์ ทำใจให้สบาย
จะเหน็ดจะเหนื่อยเท่าไหร่ก็ต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้สบาย จะชอบไม่ชอบเท่าไหร่ก็ต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้สบาย มันจะเจ็บไข้ ไม่สบาย พิกลพิการก็ช่างหัวมัน ต้องทำใจให้สงบ ทำใจให้ไม่มีทุกข์
คนเราน่ะจะรวยหรือจะจน จะเจ็บไข้ไม่สบาย ไม่เจ็บไข้ไม่สบาย สรุปแล้วอยู่ที่ใจสงบ อยู่ที่ใจไม่มีทุกข์
zทุกท่านทุกคนได้พากันมาประพฤติปฏิบัติธรรม พระพุทธเจ้าให้เราพากันทำใจให้สบาย ทำใจไม่มีทุกข์ มีสติสัมปชัญญะ พากันฝึกปล่อยฝึกวาง ทบทวนสิ่งที่ผ่านมา ที่มันตัวใหญ่ ๆ ตัวหลัก ๆ น่ะ เราพยายามตัด พยายามวาง พยายามปล่อย พยายามวาง...

 

 

 

เราจะเดิน เราจะนั่ง เราจะนอนต้องให้ใจของเราสงบ ใจของเราไม่มีทุกข์
ให้มาอยู่กับธรรมชาติเพราะธรรมชาติที่บริสุทธิ์นั้นคือสิ่งที่ไม่มีตัว ไม่มีตน
คนเราถ้าไม่มีตัวไม่มีตนมันมีความสุขมีความดับทุกข์อยู่ที่ไหนก็สบาย

เราจะพากันไปพระนิพพาน แต่เราก็พากันยึดมั่นถือมั่น
อยากจะไปพระนิพพานมันก็ไปไม่ได้
เพราะพระนิพพานมันไม่มีความอยาก
ไม่มีตัว ไม่มีตน...

เราทุกคนน่ะถือว่าเป็นผู้ประเสริฐที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้สร้างความดี สร้างบารมี สร้างคุณธรรมให้กับตัวเองและให้กับครอบครัว ประเทศชาติ สังคม จงภูมิใจในความดีในการทำความดีนะ เราจะได้ เอาชีวิตนี้มาดำเนินในทางที่ประเสริฐนะ

 


ขออำนวยพรกับผู้ที่มาประพฤติปฏิบัติธรรม จงเข้าถึงพระนิพพานตามรอยของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ...

 

 

 

 

พระธรรมคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่องค์หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม เมตตาให้นำมาบรรยาย
ให้แก่คณะผู้บริหารบริษัทบางจากและการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.)
เช้าวันเสาร์ที่ ๒๔ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๗



Visitors: 77,764