๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘

วันนี้เป็นวันอังคารที่ ๑ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘ ศาสนาพุทธ คริสต์ศักราช ๒๐๒๕ ศาสนาคริสต์ ฮิจเลาะห์ศักราช ๑๔๔๖ ศาสนาอิสลาม

 

วันนี้จะบรรยายพระธรรมพระวินัยให้เข้าใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป เพื่อความรู้คู่กับการประพฤติการปฏิบัติ เพราะการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องรู้เราต้องเข้าใจ เราจะได้ใช้จะได้ประพฤติจะได้ปฏิบัติ ความรู้ความเข้าใจนี้สำคัญมาก เป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นถูกต้อง เข้าใจถูกต้อง เพื่อจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง จะได้เอาไปใช้เอาไปประพฤติเอาไปปฏิบัติ

 

การประพฤติการปฏิบัติมันต้องคู่กับความรู้ความเข้าใจ

 

เมื่อรู้เมื่อเข้าใจแล้วก็เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ เราทุกคนต้องมีปิติมีสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ ถ้าเราไม่มีปิติสุขเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติเราก็มีความทุกข์มีความทุกข์ก็คือเป็นโรคซึมเศร้า การประพฤติการปฏิบัติถึงต้องมีปิติมีความสุขมีเอกัคคตา เราต้องมีสติมีปัญญาอย่างนี้ สติก็คือความสงบ สัมปชัญญะก็คือตัวปัญญา สติกับปัญญาต้องควบคู่กันไป

 

เราทั้งหลายจะได้ไม่เสียกาลเสียเวลา จะได้ก้าวไปด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาเพื่อเอาความดีที่ประกอบกับปัญญาดำเนินชีวิต เราจะได้มีแต่ปิติมีสุขเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ ให้มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เมื่อมันผ่านไปแล้วเราก็ปล่อยวางเรื่องอดีตที่ผ่านไปแล้ว เพราะมันผ่านไปแล้วมันเกษียณแล้ว เราก็ต้องปล่อยต้องวาง ถ้าเราไม่ปล่อยวางมันก็ไปไม่ได้ เราต้องปล่อยวางเพื่อให้เกิดความสงบเกิดปัญญา

 

ต้องรู้ต้องเข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นมันคือเหตุคือปัจจัย ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน ทุกอย่างนั้นมันคือเหตุคือปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี ทุกอย่างมันคือเหตุคือปัจจัย เพราะมันเป็นเรื่องของกรรม เรื่องกฎแห่งกรรม ผลของกรรม เหตุอย่างไรผลมันก็อย่างนั้น ความรู้ความเข้าใจนี้จึงเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ ความไม่รู้ไม่เข้าใจนั้นเป็นอวิชชาเป็นความหลง ความหลงนั้นได้แก่ไม่มีปัญญา เป็นอวิชชาเป็นความหลง

 

เราจะเป็นมนุษย์ได้ ก็เพราะเหตุก็เพราะปัจจัย ด้วยความรู้เข้าใจเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เราทั้งหลายถึงจะเป็นมนุษย์ได้ด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิพร้อมทั้งการประพฤติการปฏิบัติ

 

สภาวธรรมแห่งความเป็นมนุษย์ต้องมีปัญญาสัมมาทิฏฐิ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ เป็นสภาวธรรมที่ประเสริฐ

 

ท่านพุทธทาสภิกขุ สวนโมกขพลาราม อยู่ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ท่านเป็นพระที่มีปัญญา เป็นพระดี ท่านถึงพูดจากใจจากความเป็นจริง ท่านตรัสว่า

เป็นมนุษย์  เป็นได้  เพราะใจสูง  เหมือนหนึ่งยูง  มีดี  ที่แววขน

ถ้าใจต่ำ  เป็นได้  แต่เพียงคน ย่อมเสียที  ที่ตน  ได้เกิดมา

ใจสะอาด  ใจสว่าง  ใจสงบ ถ้ามีครบ  ควรเรียก  มนุสสา

เพราะทำถูก  พูดถูก  ทุกเวลา เปรมปรีดา  คืนวัน  ศุขสันติ์จริง

ใจสกปรก  มืดมัว  และร้อนเร่า ใครมีเข้า ควรเรียก  ว่าผีสิง

เพราะพูดผิด  ทำผิด  จิตประวิง แต่ในสิ่ง นำตัว กลั้วอบาย

คิดดูเถิด  ถ้าใคร  ไม่อยากตก จงรีบยก  ใจตน รีบขวนขวาย

ให้ใจสูง  เสียได้  ก่อนตัวตาย ก็สมหมาย  ที่เกิดมา อย่าเชือน เอย ฯ

 

เราจะเป็นมนุษย์ได้ต้องรู้เข้าใจ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ ต้องสมบูรณ์ทั้งอรรถะทั้งพยัญชนะ คำว่าสมบูรณ์ก็ได้แก่ไม่ขาดตกบกพร่อง ความไม่ขาดตกบกพร่องก็ได้แก่ความสงบและปัญญา ปัญญาและความสงบ ถ้าไม่อย่างนั้นเราเป็นมนุษย์ไม่ได้เพราะเราไม่มีเหตุมีปัจจัยของความที่จะเป็นมนุษย์ได้

 

หลักการของการเป็นมนุษย์น่ะ ต้องมีเหตุมีปัจจัยที่จะให้เป็นมนุษย์ได้ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบำเพ็ญพุทธบารมีหลายล้านชาติหลายอสงไขย ท่านตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๐ พรรษาแรกท่านจะสอนเรื่องอริยสัจสี่ สอนเรื่องความสงบ และปัญญา สอนเรื่องปัญญาและความสงบ เพื่อให้รู้ด้วยปัญญา เมื่อรู้ด้วยปัญญา เราก็จะเข้าถึงเจตนา ปัญญานั้นคือความรู้แจ้งเห็นจริงว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นคือเหตุคือปัจจัย เพราะสิ่งนี้มีสิ่งต่อไปมันถึงมี เข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มีความตั้งใจตั้งเจตนา ไม่มีต่อหน้าและลับหลังเป็นบริสุทธิคุณ ไม่มีต่อหน้าและลับหลัง เน้นที่เน้นที่เจตนา มีความสงบมีปัญญาไม่มีต่อหน้าและลับหลัง

 

บริสุทธิคุณ... คำว่าบริสุทธิคุณนี้ไม่มีต่อหน้าและลับหลัง ไม่มีกลางวัน ไม่มีกลางคืน มีแต่บริสุทธิคุณ

 

การประพฤติการปฏิบัติธรรมะนี้ถึงเป็นชีวิตที่บริสุทธิคุณ เป็นชีวิตที่สงบเป็นชีวิตที่มีปัญญา มันจะก้าวไปด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ เป็นประภัสสรด้วยความรู้ความเข้าใจ ทำให้เราเข้าถึงพระนิพพานได้ทั้งกายวาจากิริยามารยาทอาชีพ มันจะเป็นธรรมเป็นปัจจุบันธรรม จะก้าวไปด้วยความรู้ความเข้าใจ เป็นหนทางที่ประเสริฐ เป็นกระบวนการของมรรคผลพระนิพพานเรียกท่านผู้นั้นว่าผู้ตกกระแสของพระนิพพาน เข้าถึงพระนิพพานด้วยใจด้วยเจตนาตั้งแต่ในปัจจุบัน

 

ถ้าใครยังไม่ได้เป็นพระอรหันต์ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ ด้วยเหตุด้วยปัจจัยเป็นมรรคเป็นอริยมรรค รู้เข้าใจก็เข้าสู่เส้นทาง เข้าสู่กระบวนการที่เป็นบริสุทธิคุณ

 

คำว่าคุณนี้ก็หมายถึงไม่มีโทษ ที่เค้าเรียกกันว่าคุณโน้นคุณนี้หมายถึงไม่มีโทษ เป็นบริสุทธิคุณ เค้าเรียกว่าคุณ ถ้าใครรู้เข้าใจเข้าถึงภาคประพฤติภาคปฏิบัติ คนผู้นั้นหรือท่านผู้นั้นก็จะมีแต่คุณ ที่เขาไปบวชกันเค้าเรียกคนนั้นว่าคุณน่ะหรือเค้าเรียกกันว่าท่านน่ะ

 

คำว่าท่านนั้นหมายถึงไม่เอาความหลงนำชีวิต ไม่เอานิวรณ์ทั้ง ๕ นำชีวิต ไม่เอาคติทั้ง ๔ นำชีวิต ความหมายของคำว่าท่านมีความหมายอย่างนี้ ไม่เอานิวรณ์ ทั้ง ๕ นำชีวิต ไม่เอาความลำเอียงนำชีวิต เอาความสงบเอาปัญญานำชีวิต ท่านนั้นท่านนี้ก็มีความหมายอย่างนั้น ไม่มีความลำเอียง

 

อย่างผู้ที่จะเป็นผู้พิพากษาอัยการเค้าถึงว่า ท่าน ท่าน ถ้ามีความลำเอียงอยู่ ก็จะเอาศัพท์คำว่าท่านนั้นมาใช้กับผู้พิพากษาอัยการนั้นไม่ได้ อย่างผู้ที่จะเป็น ส.ส. ส.ว. เราถึงได้ยินเค้าเรียกกันว่าท่าน ท่านนั้นท่านนี้ หรือเป็นข้าราชการนักการเมืองอะไรต่าง ๆ เค้าก็เอาศัพท์นี้มาใช้ คำว่าท่านถึงเป็นธรรมเป็นสภาวธรรม คำว่าคุณคือธรรมคือสภาวธรรม เราต้องรู้เข้าใจ

 

มนุษย์เรา เราต้องรู้เข้าใจ การดำเนินชีวิตของมนุษย์ต้องเอาธรรมนำชีวิต ถ้าอย่างนั้นไม่ได้ มันจะเป็นได้แต่เพียงคน คำว่าคนนี้ยังเป็นความหลงอยู่เป็นความไม่รู้ไม่เข้าใจ มันจะเป็นไปไหนไม่ได้มันวกวนอยู่ที่เก่า เดินไปข้างหน้าแล้วถอยกลับมาอยู่ที่เก่า มันไปไหนไม่ได้ มันถึงเรียกว่าเป็นคน

 

วันหนึ่งคืนหนึ่งมันก็มี ๒๔ ชั่วโมง กลางคืน ๑๒ ชั่วโมง กลางวัน ๑๒ ชั่วโมง กลางคืนมันเป็นความพอดี เราคิดดูดี ๆ มันเป็นความพอดี อันหนึ่งทำงานอันหนึ่งพักผ่อน อันหนึ่งความสงบอันหนึ่งทำงาน อันหนึ่งความสงบอันหนึ่งปัญญา ธรรมชาติมันพอดี ธรรมชาติมันลงตัว เราต้องรู้ต้องเข้าใจเพื่อเข้าถึงความพอเพียงเพียงพอ เข้าถึงความพอดี

 

การทำงานกับการปฏิบัติธรรมมันต้องไปพร้อม ๆ กัน เราจะไปแยก การปฏิบัติธรรมจากการทำงานนั้นไม่ได้ เราจะไปแยกการทำงานออกจากการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ได้ ต้องไปพร้อม ๆ กัน มันถึงจะเป็นความพอดี มันถึงจะเป็นความสงบเป็นปัญญา

 

หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายถึงมีหลักการ เพื่อเป็นมรรคเป็นอริยมรรค เพื่อเป็นความสงบเป็นปัญญา เพื่อเป็นความพอเพียงเพียงพอ เป็นความพอดีเพราะเราทั้งหลายต้องประพฤติปฏิบัติธรรมเพื่อบริสุทธิคุณ เป็นการประพฤติปฏิบัติระหว่างวัตถุกับจิตใจไปพร้อม ๆ กัน ไม่ขาดตกบกพร่อง ด้วยความรู้ความเข้าใจด้วยความไม่ประมาท มีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ

 

ความไม่ประมาทนี้ถึงเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม่มองข้ามสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ สิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็สำคัญหมด ถ้าเราไม่เห็นความสำคัญ มันจะทำให้ด่างพร้อย เศร้าหมอง ความสงบมันจะจางไปหายไป แสงสว่างมันจะจางไปหายไปด้วยความประมาท

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าถึงตรัสไว้กับพวกเราทั้งหลายว่า ให้เรารู้ให้เข้าใจ อย่าได้เพลิดเพลิน อย่าได้ประมาท ต้องเห็นภัยในวัฏฏสงสาร มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ประพฤติปฏิบัติให้เป็นปฏิปทาในความละอายต่อบาป เกรงกลัวต่อบาป เพราะไม่มีใครแน่ไปกว่ากรรม กว่ากฎแห่งกรรม กว่าผลของกรรม

 

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เคารพในธรรมในสภาวธรรม ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ท่านถึงตรัสโอวาทครั้งสุดท้ายไว้ว่า

 

“วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมฺปาเทถ” แปลว่า “สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจง (ยังประโยชน์ตน และประโยชน์ผู้อื่น) ให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาทเถิด”

 

ความประมาทนั้นคือนิติบุคคลตัวตน ถ้าใครมีความประมาทนั้นคือกำลังมีนิติบุคคลตัวตน มันเป็นความเริ่มต้นของความผิดเพี้ยนเสียหาย มีความสำคัญมั่นหมาย มันจะเริ่มก่อภพก่อชาติที่เป็นนิติบุคคลตัวตน ความประมาทของเราต้องไม่มี เป็นผู้มีความละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาปเห็นภัยในวัฏฏสงสาร

 

พระธรรมพระวินัยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ เป็นสิ่งที่มีคุณมีประโยชน์ ความประมาทถึงเป็นโทษ มีความผิด เป็นความไม่ถูกต้อง ถ้าเราประมาทนั้นมันเป็นความไม่ถูกต้อง เพราะว่ามันไม่ใช่ความสงบ ไม่ใช่ปัญญา นี้มันคือความไม่ถูกต้อง นี้มันกำลังจะก่อตัวก่อตนก่อภพก่อชาติ ความประมาทถึงไม่ใช่ขบวนการของมรรคผลพระนิพพาน มันเป็นขบวนการแห่งความหลง

 

เราผู้ปฏิบัติทั้งหลายต้องละอายต่อบาปเกรงกลัวต่อบาป ไม่ตั้งอยู่ในความประมาท ประมาททั้งความคิดคำพูดการกระทำกิริยามารยาททั้งอาชีพทั้งใจ ต้องไม่ประมาท ความประมาทนั้นคือความไม่สงบ ความไม่สงบคือความไม่เคารพ ความไม่สงบถึงเป็นความไม่บริสุทธิ เป็นความเศร้าหมอง มันจะผ่องใสไปไม่ได้ เพราะมันประมาท

 

เราทั้งหลายต้องพากันมามีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาทความหลงความเพลิดเพลิน

 

เราต้องมีปิติมีสุขมีเอกัคคตาในความไม่ประมาทไม่หลงไม่เพลิดเพลิน เพื่อการประพฤติการปฏิบัติของเรามันจะได้ติดต่อต่อเนื่อง เพื่อเอาการทำการทำงานให้เป็นการปฏิบัติธรรม เพื่อให้การปฏิบัติธรรมเป็นการทำงานไปในตัว

 

หลักการของมนุษย์ที่ได้แบ่งเป็นกลางวันทำงาน ทำงานก็ต้องบริสุทธิคุณทั้งกายวาจากิริยามารยาทอาชีพ กลางคืนก็พักผ่อน มันเป็นสมถะกับวิปัสสนา มันเป็นความสงบกับปัญญา นี้ก็ครบ ๒๔ ชั่วโมง มันเป็นความรู้ความเข้าใจเป็นปัญญาสัมมาทิฏฐิ มันเป็นการรู้เข้าใจเข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ

 

เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านรู้เข้าใจ ท่านมีคารวธรรมไม่เพลิดเพลินประมาท เสียสละเพื่อเข้าถึงธรรมเพื่อให้เป็นธรรมเป็นสภาวธรรม เป็นความสงบเป็นปัญญา ความรู้ความเข้าใจนี้จะเป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา

 

อย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านเป็นผู้เสียสละ เสียสละให้ธาตุให้ขันธ์ให้อายตนะเพื่อพักผ่อนบรรทม เสียสละให้กับร่างกายให้ธาตุให้ขันธ์ให้อายตนะ วันหนึ่ง ๔ ชั่วโมง เสียสละให้หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เทพเทวา อินทร์ พรหม มาร สรรพสัตว์ทั้งหลายวันละ ๒๐ ชั่วโมง

 

เราต้องรู้เข้าใจว่าธรรมะที่บริสุทธิคุณเป็นประภัสสรคือบริสุทธิคุณคือความสงบกับปัญญาคือความเสียสละ ถ้าเราไม่เสียสละเราก็มีความทุกข์ เพราะตัวตนนั้นแหละมันมีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มีเลย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสอย่างนี้

 

ตัวตนนั้นมันมีทุกข์ มันไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ เปรียบเสมือนแม่น้ำมหาสมทุรมันไม่อิ่มด้วยน้ำ เปรียบเสมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อของเพลิง มันบกพร่องอยู่เป็นนิจ มันเป็นทุกข์อย่างนี้ ให้รู้ให้เข้าใจ เราทั้งหลายจะได้เห็นภัยในวัฏฏสงสารเห็นภัยในความไม่ประมาท

 

เราทั้งหลายจะไปโทษใครไม่ได้นะ เราต้องรู้เข้าใจให้มีปัญญาสัมมาทิฏฐิ เพราะผลที่ปรากฏการณ์อยู่ในปัจจุบันนี้ มันเป็นผลของกรรม ผลของกฎแห่งกรรมเป็นผลของกรรมนะ ที่เรามีความแก่ความเจ็บความตายความพลัดพรากที่เรามีความจนความรวย หรือพิกลพิการอะไรต่าง ๆ นานา อันนี้มันคือปลายเหตุแล้ว คือผลของกรรม ผลของกฎแห่งกรรม

 

เราต้องรู้เข้าใจ เราจะไม่ได้ตั้งอยู่ในความหลงความเพลิดเพลินความประมาท เพื่อเราจะได้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร เราจะได้รู้ทุกข์ รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ ก้าวไปด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างนี้

 

เราให้เข้าใจเหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้เข้าใจเรื่องธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะ ๑๒

 

เปรียบเสมือนบุรุษผู้หนึ่งแบกไหน้ำผึ้ง ไหนี้มันเป็นภาษาโบราณ อุปกรณ์โบราณ ไหที่บรรจุน้ำผึ้งแบกไปข้ามทะเลทราย ทะเลทรายแห้งแล้ง ไม่มีอะไรที่จะบริโภค ไม่มีสถานที่พักผ่อน ฉันใดก็ฉันนั้น เรามีธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะ ๑๒ มันจะกดดันเราให้มีแต่ทุกข์เกิดขึ้น ทุกข์ตั้งอยู่ ทุกข์ดับไป นอกจากทุกข์ไม่มี มันทนทุกข์ทรมานเหลือเกิน เพราะเราไปในที่กันดาร

 

เราต้องรู้เข้าใจด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ เราต้องผ่านด่าน ธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะ ๑๒ นี้ให้ได้ด้วยรู้ความเข้าใจ ด้วยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตั้งอยู่ในความสงบตั้งอยู่ในปัญญา ไม่ประมาท เดี๋ยวมันจะอดไม่ได้ มันจะดื่มน้ำผึ้งที่แบกมา เพราะน้ำผึ้งมันหวาน มันอร่อย มันแซบ มันลำ มันนัว มันหรอยแต่มันคือยาพิษน่ะ

 

เราทั้งหลายจะเอาตัวรอดในสิ่งที่ไม่รอดนะ

 

พระธรรมพระวินัยข้อวัตรกิจวัตรคือเป็นทางรอดที่ทำให้รอด เอาตัวตนมันคือความรอดในทางไม่รอด มันมีกับดักอยู่ข้างหน้านะ

 

เราต้องรู้อริยสัจสี่รู้ความจริง เราต้องก้าวไปด้วยความรู้ความเข้าใจ เราต้องข้ามความรู้ความเข้าใจ ด้วยความไม่เพลิดเพลินไม่ประมาท

 

เราต้องเอาพระพุทธเจ้าเป็นหลัก พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรก็เอาอย่างนั้น เอาพระธรรมพระวินัยแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์เอามาใช้เอามาประพฤติปฏิบัติ เพราะพระธรรมพระวินัยมีประโยชน์ เราต้องรู้เข้าใจ ถึงจะไม่อร่อยไม่แซบไม่ลำไม่นัวไม่หรอยก็ช่างหัวมัน เราต้องก้าวไปด้วยความรู้ความเข้าใจ

 

เราทั้งหลายอย่าได้เพลิดเพลินอย่าได้ประมาท ต้องก้าวไปด้วยความรู้ความเข้าใจถ้าอย่างนั้นมันจะอดไม่ได้ทนไม่ได้ อย่างนี้แหละ

 

เราจะเอาความรู้สึกนำชีวิตไม่ได้ เอาความชอบความชังนำชีวิตไม่ได้ ต้องรู้เข้าใจว่า เราต้องก้าวไปด้วยความสงบด้วยปัญญา เราต้องผ่านไปด้วยความรู้ความเข้าใจ ให้เรามีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการเอาธรรมนำชีวิตเอาข้อวัตรกิจวัตรนำชีวิต เราทั้งหลายจะไม่ได้ตั้งอยู่ในความหลงความเพลิดเพลินความประมาท

 

เพราะธรรมะมันเป็นสิ่งที่ทวนความชอบความไม่ชอบ เพราะความชอบไม่ชอบ  มันคือความปรุงแต่ง ความปรุงแต่งคือตัวคือตน ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการที่มาสงบระงับความปรุงแต่งทั้งหลาย ความชอบไม่ชอบน่ะ การมาสงบความปรุงแต่ง หยุดตรึกในกามในพยาบาทถึงเป็นทางความสงบกับปัญญา  

 

เราต้องสงบด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญาที่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ให้เห็นภัยในวัฏฏสงสารในความประมาท นี้เป็นหลักการ นี้เป็นอุดมการณ์อุดมธรรม

 

เดือนหนึ่งนี้มี ๓๐ วัน บางเดือนก็ ๓๑ วัน บางเดือนก็ ๒๙ วัน สรุปแล้วก็คือ ๓๐ วัน ถึงมีหลักการมีอุดมการณ์อุดมธรรม ให้หมู่มวลมนุษย์ทั้งหลายรู้เข้าใจ เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัติ มีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติ เดือนหนึ่งถึงมีวันหยุดอยู่ ๘ วันนะ

 

ปัจจุบันนี้ก็วันเสาร์วันอาทิตย์นี้หยุด เค้าหยุดทำไม ให้รู้เข้าใจนะ เค้าหยุดเพื่อให้เราได้ไปพัฒนาใจ วันเสาร์อาทิตย์เป็นวันที่หยุดเพื่อพัฒนาใจ

 

ใครถือศาสนาอะไรก็ให้ไปในศาสนานั้น เราถือศาสนาพุทธเราก็ไปที่วัด เราถือศาสนาคริสก็ไปที่โบสถ์ เราถือศาสนาอิสลามก็ไปที่มัสยิด เราถือศาสนาพราหมณ์ฮินดูซิกส์เราก็ไปที่เทวสถานวิหารต่าง ๆ เราต้องรู้เข้าใจ ไปประพฤติไปปฏิบัติธรรม ไปในสถานที่ที่เค้าพากันประพฤติพากันปฏิบัติ เน้นเรื่องจิตเรื่องใจไปถือศีลปฏิบัติธรรม ทำวัตรสวดมนต์ เดินจงกรมเจริญสมาธิภาวนา ไปรักษาศีลแปดรักษาศีลอด

 

ให้รู้เข้าใจว่าความหมายของการหยุด ไม่ใช่หยุดให้เราไปเที่ยวคอนเสิร์ต ไปเที่ยวทะเล ไปเที่ยวในประเทศต่างประเทศนะ เรามันหลงอยู่แล้ว หลงมากอยู่แล้ว จะไปเพิ่มความหลงให้มากกว่านี้ได้อย่างไร เราต้องรู้เข้าใจ เพราะความหลง ความเพลิดเพลินนั้นคือความประมาท ความประมาทคือความผิดความพลาด

 

เราทั้งหลายต้องรู้เข้าใจว่าชีวิตของเราที่เป็นมนุษย์เป็นชีวิตที่ประเสริฐ มนุษย์เรามีอายุขัยอยู่ได้ร่วม ๆ ร้อยปี ร้อยปีคือศตวรรษหนึ่ง ถ้าเราทำดี ๆ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในการประพฤติการปฏิบัติมันอยู่ได้มากกว่าร้อยปี ความหมายของการหยุดวันเสาร์อาทิตย์มีความหมายอย่างนี้

 

สมัยโบราณกาลเค้ามีวันหยุดวัน ๗ ค่ำ ๘ ค่ำอย่างนี้ เป็นวันพระน้อย วัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ เป็นพระวันใหญ่ นี้เค้าทำกันมาหลายร้อยหลายพันปีแล้วนะ ให้รู้เข้าใจ นี้เป็นหลักการเป็นอุดมการณ์ของมนุษย์ มนุษย์เราถึงมีหลักการมีอุดมการณ์อุดมธรรม

 

มนุษย์เรามีการเรียนการศึกษาทั้งหมด ๑๘ ศาสตร์ ๑๘ ศาสตร์มีอะไรบ้าง พอจะสังเขปให้ฟังคร่าว ๆ เป็นหลักการเพื่อจะให้เกิดปัญญา ดังต่อไปนี้

  1. ยุทธศาสตร์ วิชานักรบ
  2. รัฐศาสตร์ วิชาการปกครอง
  3. นิติศาสตร์ วิชากฎหมายและจารีตประเพณีต่าง ๆ
  4. วาณิชยศาสตร์ วิชาการค้า
  5. อักษรศาสตร์ วิชาหนังสือ
  6. นิรุกติศาสตร์ วิชารู้ภาษาของตนแตกฉานดี และรู้ภาษาของชนชาติที่ติดต่อกัน
  7. คณิตศาสตร์ วิชาคำนวณ
  8. โชติยศาสตร์ วิชาดูดวงดาวต่างๆ คือรู้จักว่าดวงดาวนั้นๆ ตั้งอยู่ทางทิศนั้นๆ และประจำเมืองนั้นๆ และรู้จักสีแสงของดวงดาวต่างๆ อันบอกลางดีและลางร้ายในกาลบางครั้ง
  9. ภูมิศาสตร์ วิชารู้พื้นที่ต่างๆ หรือรู้จักแผนที่ของประเทศต่างๆ
  10. โหราศาสตร์ วิชาโหร คือรู้พยากรณ์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ และรู้ทายดวงชะตาราศีของคนได้ด้วย
  11. เวชศาสตร์ วิชาหมอยา
  12. สัตวศาสตร์ วิชารู้ลักษณะของสัตว์และเสียงสัตว์ว่าร้ายหรือดี
  13. เหตุศาสตร์ วิชารู้เหตุเป็นแดนเกิดแห่งผลว่าร้ายหรือดี
  14. โยคศาสตร์ ยันตรศึกษา คือรู้จักความเป็นช่างกล
  15. ศาสนศาสตร์ วิชารู้เรื่องศาสนา คือรู้จักประวัติความเป็นมาแห่งศาสนาทุกๆ ศาสนาที่มหาชนนิยม เพื่อปฏิบัติไม่ขัดแก่สังคมใดๆ และรู้คำสอนในศาสนานั้นๆ ด้วย
  16. มายาศาสตร์ วิชารู้กลอุบาย หรือรู้ตำรับพิชัยสงคราม
  17. คันธรรพศาสตร์ วิชาคนธรรพ์คือวิชาร้องรำ(ละคอน) ที่เรียกชื่อว่า "นาฏยศาสตร์" และวิชาดนตรีปี่พาทย์ ที่เรียกชื่อว่า "ดุริยางคศาสตร์"
  18. ฉันทศาสตร์ วิชาประพันธ์ คือแต่งหนังสือได้ ทั้งที่เป็นร้อยกรอง (บทกลอน) และร้อยแก้ว(ความเรียง)

 

เราเป็นมนุษย์เป็นผู้ประเสริฐเราต้องรู้ต้องเข้าใจเพื่อเป็นหลักการอุดมการณ์อุดมธรรม เพื่อบริสุทธิคุณด้วยความรู้ความเข้าใจ เราจะได้พัฒนาทั้งใจทั้งวัตถุไปพร้อม ๆ กัน

 

เราดูสิ นักวิทยาศาสตร์ไปได้มั๊ย ไปไม่ได้หรอก เพราะเอาตัวเอาตนนำชีวิตมันไปไม่ได้มันไม่สงบ

 

คนจนน่ะไปได้มั๊ย คนจนก็ไปไม่ได้เพราะเอาตัวเอาตนเป็นที่ตั้ง ตัวตนนั้นคือ  ความยากจน ไม่ได้เอาหลักการ ไม่ได้เอาศีลเอาสมาธิเอาปัญญานำมันเลยยากจน

 

ชีวิตนี้เราต้องรู้เข้าใจในการดำเนินชีวิต เรารู้เข้าใจ เราจะได้เอาไปใช้เอาไปปฏิบัติ

 

ความรู้ความเข้าใจถึงเป็นความสำคัญนะ เมื่อเรารู้เข้าใจไปอยู่ที่ไหนเราก็ปฏิบัติได้เหมือนเราไปเรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้ เข้าใจ ไปอ่านไปเขียนไปอยู่ที่ไหนก็ได้ ด้วยความรู้ความเข้าใจ ความรู้ความเข้าใจถึงไม่ใช่ความจำ มันจะเป็นปัญญา เข้าสู่ภาคประพฤติภาคปฏิบัตินะ ความรู้ความเข้าใจ การฟังการไปเรียนหนังสือก็เพื่อความรู้ความเข้าใจ การฟังบรรยายในศาสตร์ต่าง ๆ ก็เพื่อความรู้ความเข้าใจ

 

นักวิทยาศาสตร์ที่ไปค้นคว้าเพื่อพัฒนา ความมุ่งหมายของนักวิทยาศาสตร์ก็เพื่อความรู้ความเข้าใจ เพราะทุกอย่างมันแก้ไขได้เปลี่ยนแปลงได้ ด้วยหลักเหตุหลักผล ด้วยกรรม ด้วยกฎแห่งกรรม มันเปลี่ยนแปลงไปได้ในทางที่ดีที่ประกอบด้วยปัญญา ความหมายของนักวิทยาศาสตร์มีความหมายอย่างนี้

 

ความไม่ประมาทนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ เราทั้งหลายถึงต้องเห็นภัยในวัฏฏสงสารต้องเอาความถูกต้องเป็นหลัก เราทั้งหลายจะไม่ได้เอาความประมาทนำชีวิต   

               

เราทั้งหลายไม่ต้องกลัวอดตาย ต้องเอาตัวรอดในทางที่รอด อย่าไปเอาตัวรอดในทางที่ไม่รอดนะ

 

เราอยู่ที่ไหนเราก็ปฏิบัติได้ การประพฤติการปฏิบัตินั้น ปฏิบัติได้อยู่ทุกหนทุกแห่งด้วยความรู้ความเข้าใจ

 

เราทั้งหลายอย่าไปหาสถานที่ในการประพฤติการปฏิบัติ ให้เข้าใจว่าสถานที่ในการประพฤติการปฏิบัติน่ะ เรามีกายอยู่ที่ไหนมีใจอยู่ที่ไหน เรามีธาตุทั้ง ๔ ขันธ์ทั้ง ๕ อายตนะ ๑๒ อยู่ที่ไหนเราก็ปฏิบัติที่นั่น ไม่เลือกกาลไม่เลือกเวลา                  

 

ให้รู้เข้าใจ อย่าไปคิดเหมือนแต่ก่อนคิดจะให้ว่างจากสิ่งที่ไม่มี เราคิดให้ว่างจากสิ่งที่มีมันเป็นได้ยาก องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านมาตรัสรู้เพื่อให้เข้าถึงพระนิพพานหรือเข้าถึงความว่างจากสิ่งที่มีอยู่

 

ให้รู้เข้าใจว่าทุกสิ่งทุกอย่างนั้นไม่ใช่นิติบุคคลตัว มีแต่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปมีแต่สัญจรไปมาด้วยเหตุด้วยปัจจัย หาใช่นิติบุคคลตัวตนไม่ มีแต่สัญจรไปมา สัญจรไปมาทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ ตามที่เป็นบาลีเป็นภาษาบาลีเรียกว่าอาคันตุกะ สัญจรไปมา

 

เราต้องรู้เข้าใจ มันมีเหตุมีปัจจัยที่จะสัญจรไปมามันก็สัญจรไปมาอย่างนี้แหละ

 

เราต้องรู้เข้าใจ เราจะไม่ให้สัญจรไปมาไม่ได้ เพราะมันมีตามันก็มีรูป ถ้าเราไม่มีตามันจะมีรูปมั๊ย ไม่มี เรามีหูก็มีเสียง ถ้าไม่มีหู มันก็ถึงไม่มีเสียง

 

เราต้องรู้เข้าใจว่าทุกอย่างมันสัญจรไปมา เราทั้งหลายจะได้มีปัญญาน่ะ เราจะได้มีความสงบ เราจะรู้ความเป็นจริงของความเป็นจริง

 

เราไม่ต้องไปหาความว่างที่ไหน หาได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ เราจะสงบได้ด้วยความรู้ความเข้าใจ สงบได้ด้วยศีลด้วยสมาธิด้วยปัญญา

 

เราต้องเอาศีลมาใช้ เอาสมาธิมาใช้ เอาปัญญามาใช้ ว่าอันนี้ไปคิดไม่ได้นะ ไปตรึกไม่ได้นะ อันนี้ไปพูดไม่ได้ อันนี้ไปทำไม่ได้ เราต้องรู้เข้าใจ เพราะเราไปทำตามสิ่งที่รู้และเห็นนี้มันก็เป็นกงจักรมันก็หมุนไปเรื่อย เราต้องรู้เข้าใจ ว่าอันนี้เป็นสิ่งที่รู้แล้วต้องคู่กับการประพฤติการปฏิบัติ เราทั้งหลายต้องมีความสงบมีปัญญาอย่างนี้

 

เราทั้งหลายต้องเห็นภัยในวัฏฏสงสาร ไม่ไปตามสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป เราทั้งหลายจะได้ว่างจากสิ่งที่มีอยู่ด้วยความรู้ความเข้าใจ ไม่หลงไม่เพลิดเพลินไม่ประมาท มีความสงบมีปัญญา มีปิติมีสุขมีเอกัคคตาว่าทำไมเราโชคดีแท้ เพอร์เฟคแท้ ว้าว ว้าว ว้าว มีความสุขในการประพฤติการปฏิบัติ เป็นโอกาสดี เป็นโอกาสทอง เป็นแผ่นดินทองแผ่นดินธรรมน่ะ ให้รู้เข้าใจอย่างนี้นะ

 

เราอย่าไปเพลิดเพลินอย่าไปหลงอย่าไปประมาท เราพัฒนาวิทยาศาสตร์ เราต้องมีปัญญาอย่าให้วิทยาศาสตร์มันทำร้ายเราด้วยเราประมาทน่ะ เดี๋ยวเครื่องจักรมันจะตัดเท้าตัดมือหรือตัดอวัยวะของเรานะ เครื่องจักรน่ะ

 

วิทยาศาสตร์ถ้าเราไม่รู้ไม่เข้าใจคนที่เรียนศึกษา คนที่มั่งมีศรีสุขจะเป็นโรคประสาทหรือว่าโรคไม่สงบมากกว่าคนอื่นเค้านะ

 

เราต้องรู้ต้องเข้าใจ เราทั้งหลายจะได้เข้าถึงความสงบเข้าถึงความพอเพียงเพียงพอ เราต้องรู้เข้าใจ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายมีปัญญาก็ต้องมีความสงบมีความสงบก็ต้องมีปัญญา นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายน่ะ

 

เราเกี่ยวข้องทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ เราต้องเอามาใช้เอาปฏิบัติ อย่าได้เพลิดเพลินอย่าได้หลง อย่าได้ประมาท พระพุทธเจ้าว่าอย่างไรก็เอาอย่างนั้น พระพุทธเจ้าว่าซ้ายก็ไปทางซ้าย ว่าไปทางขวาก็ขวา ว่าให้หยุดก็หยุด ให้ไปก็ไป เพราะพระพุทธเจ้า ไม่ใช่นิติบุคคลตัวตน พระพุทธเจ้าคือธรรมคือพระวินัย ให้รู้เข้าใจอย่างนี้ อย่าไปเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ให้รู้เข้าใจ

 

ที่เราเพลิดเพลินเราประมาทนี้คือบุคคลที่เก่งก่วาพระพุทธเจ้านะ เราปฏิบัติตรงกันข้ามกับพระพุทธเจ้าเลย นี้เค้าเรียกว่าคนเก่งกว่าพระพุทธเจ้า คนที่ตั้งอยู่ในความประมาท เรียกว่าเก่งกว่าพระพุทธเจ้า ยกตนสูงกว่าพระพุทธเจ้า ไม่เคารพคารวะในความถูกต้องหรือว่าไม่เคารพคารวะในพระธรรมในพระวินัยในหลักการอุดมการณ์ เอาความรู้สึกนำชีวิต ชีวิตนี้ก็ย่อมพังทลายเหมือนตึก สตง.ของเมืองไทย

 

เราต้องหยุดความไม่ถูกต้อง ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทมีปิติมีความสุขมีเอกัคคตาในความไม่ประมาท อย่าไปกลัวอดตายเดี๋ยวมันจะเป็นการเอาตัวรอดในความไม่รอด รอดตายอยู่แต่ไม่รอดกรรม ไม่รอดเวรรอดภัย ชีวิตนี้มันจะพังทลายยิ่งกว่าตึก สตง.เสียอีกนะ

 

ที่หลวงปู่มั่นท่านตรัสโอวาทพระธรรมคำสั่งสอนเรื่องความไม่ประมาทไว้ว่า

ความไม่ยั่งยืน เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และแน่นอนนะ

ความยิ่งใหญ่ คือความไม่ยั่งยืนนะ

ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ คือชีวิตที่อยู่ด้วยทาน ศีล เมตตา และกตัญญู

ชีวิตที่มีความดี อาจมิใช่ความยิ่งใหญ่ แต่ชีวิตที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยคุณธรรม ความดีเป็นปัญญาบริสุทธิคุณเท่านั้น การระงับสังขารทั้งหลายด้วยความรู้ความเข้าใจเป็นความรู้คู่กับการประพฤติการปฏิบัตินั่นแหละคืออริยมรรค เป็นหนทางที่ประเสริฐมีพระนิพพานตั้งแต่ในปัจจุบัน ไม่ต้องรอพระนิพพานเมื่อตายแล้ว ปัจจุบันไม่มีพระนิพพาน อนาคตจะมีพระนิพพานได้อย่างไร ให้เรารู้เข้าใจเรื่องพระธรรมพระวินัย พระธรรมพระวินัยที่เป็นสัมมาทิฐิ เพื่อหยุดวัฏฏสงสารนั่นแหละ คือพระนิพพาน ให้พวกเรารู้เข้าใจในเรื่องพระนิพพาน ให้เข้าใจนะ

ความรู้ความเข้าใจเราทั้งหลายจะได้เห็นภัยในวัฏฏสงสารตั้งอยู่ในความไม่ประมาท ตามโอวาทขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านบอกเราทั้งหลายว่า เราทั้งหลายจงตั้งอยู่ในความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี้เป็นโอวาทในครั้งสุดท้ายขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เป็นบริสุทธิคุณอย่างหาที่สุดหาประมาณมิได้

 

---------------------------------------

 

โอวาทขององค์หลวงพ่อกัณหา สุขกาโม

เมตตาให้ไว้ในเช้าวันอังคารที่ ๑ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๘

ณ วัดป่าทรัพย์ทวีธรรมาราม ต.วังหมี อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา

Visitors: 95,370