“ทรัพย์กรมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ด้วยความกตัญญู)” Perfect Human Resource : PHR


พุทธเศรษฐศาสตร์ (Buddhist Economics) : “ทรัพย์กรมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ด้วยความกตัญญู)” Perfect Human Resource : PHR








 

การจะเป็นองค์กรที่สุดยอดได้ ก็เพราะองค์กรนั้นมี “คน” ที่สุดยอด
“คน” ที่สุดยอดนั้นไซร้ คือคน “กตัญญู”
มหาบุรุษ บุคคลที่ประสบความสำเร็จ ทำงานให้คนทั้งโลกได้มากขนาดไหน
หากแม้นยังมิได้ตอบแทนบุคคลบุพการีชน บุคคลที่ให้กำเนิดแล้วไซร้ยังไม่ถือว่าเป็น “คน” ที่สมบูรณ์...

“คน (Man)” หรือที่ในระบบการบริการจัดการเรียกว่า “ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)” นั้น ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหลัก ปัจจัยที่สำคัญที่สุดขององค์ประกอบองค์กร หรือ 4 M (Man Money Material and Management)

คนสุดยอด จะทำองค์กรให้ถึง “ยอดสุด”...

ความเป็นคนที่สุดยอดได้นอกเสียจากจะเก่งแล้วต้อง “ดี” ด้วย
คนเก่งในปัจจุบันนั้นหาไม่ยาก แต่คน “ดี” ที่ดีจริงนั้นหายาก

คนดี ที่ใครเขาว่าดีนั้นอาจจะดูว่ามีเยอะแยะ
ช่วยเหลือสังคมบ้างหละ ช่วยเหลือมูลนิธิโน้น บริจาคเงินให้มูลนิธินี้ แต่... พ่อ และ แม่ ที่บ้านนั้น “เป็นอย่างไร?”

คำถามที่น่าคิด ท้าทาย สำหรับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบัน
องค์กรเรียกร้อง สปีริต (Spirit) อุดมการณ์ จากบุคลากร ให้บุคลากรทำงานให้องค์กรอย่างเต็มที่
แต่... สปีริตพื้นฐาน อุดมการณ์พื้นฐานแห่งความเป็น “คน” ที่สมบูรณ์นั้น “เป็นอย่างไร?”

การโยกย้าย ถ่ายเท กำลังบุคลากรทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้คนต้องโยกย้ายถิ่นฐานบ้านเกิดไปทำงานตามที่ต่าง ๆ
ต้อง (จาก) ทิ้ง “พ่อ แม่” ที่แก่เฒ่าเพื่อเข้าไป “ทำงาน” รับใช้ ทุ่มเทชีวิตจิตใจเพื่อ “องค์กร”

จากสภาพที่บีบรัด รวมทั้งการแข่งขันทางธุรกิจ ทำให้องค์กรต้องหาดำเนินการตามหลักของการบริหาร คือ “ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด” วันหยุดลดน้อยลง วันลาตามกฎหมายกำหนด (หยุดครบอาจโดนเพ่งเล็ง หรือเงินเดือนไม่ขึ้น “โชว์สปีริต”)

การมองเห็นประโยชน์เบื้องหน้าเป็นสำคัญ จนลืมมองรอบจนครอบตัวและตนนั้นเป็นปัญหาอย่างยิ่ง
การมองตัวเลขในงบดุล และ งบกำไรขาดทุน อาจจะดูดีขึ้น เมื่อค่าใช้จ่ายในการบริหารบุคลากรลดลง ต้นทุนลดลง รายได้มากขึ้น “กำไร” มากขึ้น
แต่... สิ่งที่จะได้มากกว่านี้ ถ้าเรามีทรัพยากรมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Perfect Human Resource : PHR) อยู่ในองค์กร เป็นบุคลากรในองค์กร เราอาจจะได้กำไร “สูงกว่า”

บุคลากร องค์กร เก่งไม่พอ ต้อง “เฮง” ด้วย

ความเฮง เกิดขึ้นจากความดี “คนดี”
“คนดี” ต้องเป็นคนที่มีใจกตัญญู

เมื่อองค์กรไม่สนับสนุน เกื้อหนุน ให้คนกตัญญู แล้วองค์กรจะดี และ “เฮง” ได้อย่างไร?

“ความกตัญญู” สิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นจากสมุดบัญชีเล่มใด แต่สิ่งนี้สามารถมองเห็นได้จาก “ใจ” ของพนักงาน

ความเต็มที่หนึ่ง ความเต็มใจหนึ่ง ความคิดสร้างสรรค์หนึ่ง จะเกิดจากบุคลากรที่มี “ปัญญา”
บุคลากรที่มีปัญญานั้นจะต้องเป็นบุคคลที่มี “ศีล”
คนจะมีศีล จะต้องเป็นคนกตัญญู เรียกดู เอาใจใส่ “พ่อแม่” บุคคลที่มีวัยหนุ่มล่วงไปแล้ว

บุคลากรที่มีศีล ย่อมมีสมาธิจดจ่ออยู่กับการทำงาน เต็มที่ เต็มใจ ทุ่มเทให้กับการทำงาน
โดยเฉพาะงานสร้างสรรค์ งานคิด งานบริการ งานบริหาร “ศีล” เป็นสิ่งที่นำความ “สงบ สุข” มาแก่องค์กร

การมีบุคคลกตัญญูอยู่ในองค์กร เปรียบเสมือนหนึ่งมีเทวดาอยู่ในองค์กร เพราะเทวดาจะอยู่และคุ้มครองคนดี คุ้มครองให้ “ใจดี”
คนดี ใจดี มี “ศีล” จะไม่โกงบริษัท ไม่เบียดบังเวลาขององค์กร ไม่นำพาความ “ฉิบหาย” มาสู่องค์กร

คนดี มี “ศีล” เป็นพื้นฐาน มี “สมาธิ” เป็นท่ามกลาง และมี “ปัญญา” อยู่เบื้องปลายอันเป็นที่สุดรอบ

คนดี ทำงานดี ต้นทุนความเสียหาย ทั้งจากระบบ (ภายใน) ลดลง เพราะ “คนดี” ย่อมทำงานดี ๆ ส่งต่อให้กันและกัน ซึ่งนักวิชาการต่างประเทศเขาเรียกกันว่า Next Process is ours customers แต่ คนดี คนกตัญญู จะทำได้ดีกว่านั้น เพราะเขาจะคิดว่า All Process if ours Family กระบวนการทุกอย่างคือครอบครัวของเรา
เรารักลูกขนาดไหน เรามอบสิ่งดีให้ลูกขนาดไหน เราทุ่มเทให้ลูกขนาดไหน พนักงานจะมอบสิ่งดีต่อ ๆ กันมากขนาดนั้น

การสนับสนุนให้มีทรัพยากรมนุษย์ที่ “กตัญญู”
กตัญญูต่อพ่อแม่ อยู่บ้าน เลี้ยงดู ใส่ใจ “พ่อแม่”
เริ่มต้นจาก รับบุคลากรที่ “อยู่บ้าน”
ถัดมาสนับสนุน เกื้อกูล ให้เขาเป็นคนกตัญญู จัดที่อยู่ ที่อาศัย ให้พ่อแม่ที่เดินทางมาจากแดนไกล ให้พ่อ แม่ ลูก ได้อยู่ใกล้กัน
ขั้นต่อ มีหลายสาขาในหลายจังหวัด “กลับบ้านได้ก็ให้กลับ” ให้ครอบครัวเป็นครอบครัว ให้พ่อเป็นพ่อ ให้แม่เป็นแม่ และ ให้ “ลูกเป็นลูก”
เอื้ออำนวย สนับสนุน วันหยุดคือวันหยุด วันลาเป็นวันลา “หยุดเพื่อพ่อ ลาเพื่อแม่”

คนดีแล้ว กตัญญูแล้ว ทุกสิ่ง ทุกอย่าง จะตามมา...

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

31 มีนาคม พ.ศ.2551

Visitors: 77,732